TKC สานต่อโครงการ Smart Farming ปั้น “เกษตรกรอัจฉริยะ” ต้นแบบทำเกษตรกรสมัยใหม่

“TKC” เดินหน้าโครงการซีเอสอาร์ สมาร์ทฟาร์มมิ่ง (Smart Farming) จับมือ “มูลนิธิณัฐภูมิ” ขยายเฟส 2 พัฒนาต่อยอดการใช้เทคโนโลยี IoT ในการเกษตร จัดอบรมเกษตรกรพร้อมมอบใบเกียรติบัตร ปั้น “Mr & Miss IoT เกษตรกรอัจฉริยะ” เป็นต้นแบบนำร่องทำเกษตรสมัยใหม่ ตั้งเป้าเกษตรกรเรียนรู้เทคโนโลยี อนาคตสุขภาพดี สร้างรายได้ หายจน

เพราะความมุ่งมั่นอยากให้เกษตรกรไทยก้าวสู่การเป็น Smart Farming หรือการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะเข้ามาใช้ในการทำการเกษตร เพื่อให้สามารถทำเกษตรได้อย่างง่ายมากขึ้น ได้ผลผลิตมากขึ้น มีรายได้และกำไรมากขึ้น โดยรวมคือมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น นั่นทำให้ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “TKC” ร่วมกับมูลนิธิณัฐภูมิ จ.ลำปาง เดินหน้าโครงการปั้นเกษตรกรอัจริยะต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2566 TKC ได้ร่วมกับมูลนิธิณัฐภูมิ จัดพิธีมอบใบเกียรติบัตรแก่เกษตรกร ที่เข้าอบรมโครงการ “ปั้น Mr & Miss IoT เกษตรกรอัจฉริยะ” หนึ่งในกิจกรรมของโครงการ Smart Farming โดยผู้เข้ารับการอบรมครั้งนี้ถือเป็นเกษตรกรอัจฉริยะรุ่นแรกของโครงการ

สำหรับโครงการ “ปั้น Mr & Miss IoT เกษตรกรอัจฉริยะ” เป็นการอบรมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี IoT แก่เกษตรกรเพื่อนำไปใช้ในการเพาะปลูกได้ด้วยตัวเอง เช่น ระบบควบคุมการจ่ายน้ำ และปุ๋ยอัตโนมัติในโรงเรือนเพาะปลูก การใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ การใช้โดรนหว่านเมล็ดพืชและปุ๋ย เป็นต้น

โครงการนี้เป็นการพัฒนาต่อยอดจากระยะแรกที่ดำเนินการไปแล้วเมื่อปี 2563 โดยเปิดรับสมัครเกษตรกรในหมู่บ้าน และสมาชิกของมูลนิธิณัฐภูมิ รวมทั้งจากกลุ่มเครือข่ายต่างๆ เช่น กลุ่มฮักน้ำจาง อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เข้ารับการอบรมเรียนรู้เทคโนโลยี IoT และการใช้อุปกรณ์แบบง่ายๆ รวมทั้งภาคปฏิบัติให้ลงมือทำด้วยตัวเอง จนสามารถใช้งานได้จริง โดยใช้ระยะเวลาในการอบรม 2 วัน

โดยผู้ผ่านการอบรมจะได้รับใบเกียรติบัตรจากโครงการฯ ส่วนความรู้ที่ได้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่เพาะปลูกของตนเอง อาทิ ช่วยแก้ไขปัญหาลดสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย ทำให้พืชผักผลไม้ปลอดสารพิษ ทั้งยังช่วยลดต้นทุน ลดการใช้แรงงานคน และเพิ่มผลผลิตด้วย

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการขยายความรู้ในวงกว้าง ยังได้คัดเลือกผู้ที่มีความโดดเด่นในการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี จำนวน 3 คน ปั้นให้เป็น “Mr & Miss IoT เกษตรกรอัจฉริยะ” เพื่อเป็นต้นแบบถ่ายทอดการใช้เทคโนโลยี IoT ให้แก่เกษตรกรคนอื่นๆ ต่อไป สำหรับ Mr & Miss IoT เกษตรกรอัจฉริยะ ทั้ง 3 คนนี้จะได้รับอุปกรณ์ IoT นำไปใช้ในการเพาะปลูกพืชผักที่บ้านของตัวเอง เพื่อให้เห็นผลอย่างแท้จริง

สยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากที่ TKC ได้เข้าร่วมงานกับมูลนิธิณัฐภูมิ โดยนำเทคโนโลยีและวิชาการสมัยใหม่เข้าไปให้เกษตรกรสมาชิกของมูลนิธิฯ ใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งเป้าหมายของ TKC คือความยั่งยืนใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.นำเทคโนโลยีมาช่วยทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 2.นำเทคโนโลยีมาแก้ไข และพัฒนากระบวนการทำงานของเกษตรกร 3.เกษตรกรต้องมีต้นทุนในการทำเกษตรที่ลดลง และต้องมีรายได้มากขึ้น

“ที่ผ่านมาเราได้ทำโครงการะยะที่ 1 ไปแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน โดยเริ่มจากการสร้างระบบน้ำหยดสำหรับปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ช่วงแรกๆ ใช้น้ำจากบ่อน้ำของมูลนิธิฯ ซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่มาก จึงทำได้เพียงเป็นต้นแบบในพื้นที่สาธิตการเกษตรเพื่อการประหยัดน้ำ นอกจากนี้ได้เริ่มทดสอบการนำโดรนมาใช้ในการเกษตรปลูกข้าวนาแปลงใหญ่ด้วย”

“สำหรับปีนี้เป็นระยะที่ 2 ทาง TKC ได้พัฒนาต่อยอดให้เกษตรกรสามารถใช้เทคโนโลยีได้ด้วยตัวเอง โดยจัดเป็นโครงการนำร่องอบรมเกษตรกรรุ่นแรก 30 คน หลังผ่านการอบรมแล้ว เกษตรกรเหล่านี้จะมีความรู้และใช้เทคโนโลยีเป็น สามารถนำกลับไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกของตนเองได้อย่างเป็นจริง

“สำหรับเกษตรกรอัจฉริยะ Mr & Miss IoT ที่คัดเลือกได้ 3 คนนี้ TKC จะมีทีมวิศวกร นักวิชาการของบริษัทเฝ้าติดตามและลงไปประเมินผลการใช้เทคโนโลยีถึงบ้านอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าเมื่อคนเหล่านี้มีความรู้ก็จะสามารถถ่ายทอดให้กับเกษตรกรคนอื่นๆ ต่อไปได้”

สยาม กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันทางมูลนิธิณัฐภูมิพัฒนาพื้นที่ค่อนข้างมาก รวมถึงขยายแหล่งน้ำ และพื้นที่สาธิตการเกษตร ดังนั้น เราจึงเริ่มแนวคิดในการปลูกพืชที่มีมูลค่าสูงขึ้น มีการใช้วิธีควบคุมการเพาะปลูกในโรงเรือน ได้ไปช่วยออกแบบระบบ ควบคุมอัตโนมัติเป็นโรงเรือนเพาะปลูกอัจฉริยะ (smart greenhouse)

โดยมีการนำเอาเทคโนโลยี IoT ที่จะสามารถตรวจสอบปัจจัยต่างๆ จากสิ่งแวดล้อมในการปลูกพืช เช่น ความชื้นในดิน ในอากาศ อุณหภูมิ แล้วนำค่าที่ได้เหล่านี้กลับมาป้อนในระบบอัตโนมัติที่สร้างขึ้น โดยระบบนี้จะควบคุมการจ่ายปุ๋ย และน้ำให้กับแต่ละโรงเรือน

ทั้งหมดนี้ได้ติดตั้งให้กับมูลนิธิฯ จำนวน 24 โรงเรือน แต่ละโรงเรือนสามารถที่จะควบคุมการให้น้ำในแต่ละโรงเรือน และชนิดของพืชที่ต่างกันได้ รวมทั้งสามารถกำหนดเงื่อนไขในการให้น้ำได้อย่างพอเหมาะตามสภาพอากาศ อุณหภูมิ และความชื้นที่เกิดขึ้น ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดีใกล้เคียงกัน

นอกจากนี้ เราพยายามช่วยมูลนิธิลดค่าใช้จ่าย รวมถึงส่งเสริมให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการใช้พลังงานทดแทน ด้วยการสนับสนุน และติดตั้งระบบโซลาร์เซล จำนวน 20 kW ภายในมูลนิธิ รวมทั้งใช้กับโรงเรือนอัจฉริยะ และพื้นที่แปลงอื่นของมูลนิธิที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง รวมทั้งได้นำเอาระบบโซลาร์เซลขนาด 3.9 กิโลวัตต์ ไปติดให้กับโรงสูบน้ำ 2 จุด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตรในพื้นที่แปลงที่สี่ของมูลนิธิฯ ด้วย

สยาม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเฟสถัดไป TKC หวังที่จะได้เข้าถึงกลุ่มชาวบ้านในชุมชนมากขึ้น เพื่อให้ทราบปัญหาเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นในชุมชน เรากำลังจะมีฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ชุดใหม่ที่มีการนำเอาเทคโนโลยีปัญญาอัจฉริยะหรือ AI มาใช้ด้วยสำหรับเกษตรกร ในการเลือกตัดสินใจในการดำเนินการปลูกพืชที่เหมาะสม

และยังมีความคิดที่จะทำอุปกรณ์ หรือแพลตฟอร์มรองรับการใช้ในระบบการเกษตรอื่นๆ นอกเหนือจากระบบโรงเรือน เช่น นำระบบที่ TKC สร้างไปใช้ในงานด้านประมงหรือการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ หากสำเร็จจะทำให้เกษตรกรมีข้อมูลที่ครบถ้วนช่วยให้การตัดสินใจเพาะปลูกดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น

“ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการทำงานให้แก่เกษตรกรได้ ทั้งการเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนได้จริง เพียงแต่ว่าเราต้องศึกษาให้เข้าใจกระบวนการและปัญหาที่แท้จริง โครงการนี้จะเป็นตัวอย่างในการนำร่อง ทำให้เห็นว่าเกษตรกรก็เรียนรู้เทคโนโลยีได้ ใช้เทคโนโลยีเป็น ต่อไปในอนาคต

“ถ้าเราประสบความสำเร็จในโครงการนำร่อง จะจัดอบรมคนให้มากขึ้นใหญ่ขึ้นเป็นหลักร้อยคน แล้วผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเฟสต่อไปจะขยายเข้าไปในหมู่บ้าน ให้มีปริมาณคนที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น มีผลดีต่อหมู่บ้านมากขึ้น สุดท้ายก็เป็นสมาร์ทวิลเลจ นอกจากมีสุขภาพที่ดีแล้ว ชาวบ้านยังมีรายได้เพิ่มจากการขายผลผลิต รวยขึ้น จับต้องได้จริง”

ด้าน ภูมิพันธ์ บุญญาปะมัย ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคไอ เพอร์เพชชวล จำกัด ในฐานะประธานผู้ก่อตั้งมูลนิธิณัฐภูมิ กล่าวว่า มูลนิธิณัฐภูมิลำปาง มุ่งมั่นและตั้งใจในการช่วยเหลือชุมชนชาวตำบลนิคมพัฒนา เพื่อพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง จึงมุ่งเน้นส่งเสริมการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชน เพื่อให้เกิดความสมดุลในทุกมิติ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ขอบคุณ : Forbes Thailand